นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทพ. ระบุว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่ กทพ.เสนอว่าจ้าง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอพซิลอน จำกัด เป็นที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม.
ซึ่งโครงการจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อสร้างต่อเชื่อมจากทางพิเศษฉลองรัช หรือ ทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ถึงจังหวัดนครนายก ช่วงที่ 2 ก่อสร้างจากนครนายก ถึงจังหวัดสระบุรี
จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ผ่านถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ ผ่านถนนลำลูกกา บริเวณ กม. 22+500 ทางหลวงชนบท นย.3001 ถนนรังสิต-นครนายก บริเวณ กม. 59+800 ทางหลวงหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม.116 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (สายบางปะอิน-นครราชสีมา) และทางเลี่ยงเมืองสระบุรี สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ ที่ กม.10+700 อำเภอแก่งคอย มีทางขึ้น-ลง 9 แห่ง มีทางขึ้นลงดังนี้
จุดที่ 1 ทางขึ้น-ลงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก
จุดที่ 2 ทางขึ้น-ลง ถนนหทัยราษฏร์
จุดที่ 3 ทางขึ้น-ลง ถนนลำลูกกา
จุดที่ 4 ทางขึ้น-ลง ทางหลวงชนบท นย. ๓๐๐๑ (องครักษ์)
จุดที่ 5 ทางขึ้น-ลง ถนนรังสิต-นครนายก (บางอ้อ)
จุดที่ 6 ทางขึ้น-ลง ถนนสุวรรณศร (บ้านนา)
จุดที่ 7 ทางขึ้น-ลง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ (บางปะอิน-นครราชสีมา)
จุดที่ 8 ทางขึ้น-ลง ถนนเลี่ยงเมืองสระบุรี
จุดที่ 9 ทางขึ้น-ลง ถนนมิตรภาพ