ผังเมืองใหม่กรุงเทพฯ ปี 2563 ตัดถนน 203 สาย

นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. เปิดเผยว่า การจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้กำหนดให้มีความสอดคล้องกับการส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครมุ่งสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการปรับเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครนั้นเป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย สุขลักษณะและสวัสดิภาพให้กับประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สมดุลกับศักยภาพพื้นที่ ด้วยการควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความหนาแน่นของอาคาร และการกำหนดมาตรการทางผังเมืองต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น ในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองในกรอบวงแหวนถนนรัชดาภิเษกได้ส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีความหนาแน่นสูงเนื่องจากเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริหารราชการของประเทศ มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และระบบขนส่งมวลชนทางรางที่สมบูรณ์ ส่วนในพื้นที่ชานเมืองบริเวณที่มีระบบรางเข้าถึงและอยู่ใกล้ถนนกาญจนาภิเษกได้ส่งเสริมให้เป็นศูนย์ชุมชนชานเมือง เช่น มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานใหม่ บางกะปิ บางนา ศรีนครินทร์ ตลิ่งชัน บางแค บางขุนเทียน เป็นต้น เพื่อไม่ให้เมืองเติบโตแบบกระจัดกระจายไร้ระเบียบ พื้นที่ชานเมืองที่ยังมีระบบสาธารณูปโภคไม่ทั่วถึง การสัญจรไม่สะดวก ประชากรไม่หนาแน่น หรือเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งสามารถพัฒนาเมืองได้ไม่หนาแน่นมากนัก ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดประสิทธิภาพและใช้งบประมาณคุ้มค่าที่สุดในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนชาวกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำผังเมืองรวมนั้น ได้ตระหนักถึงปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น กระบวนการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชน นโยบายของรัฐบาล ความสอดคล้องกับแผนชาติระดับต่างๆ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Mega project) เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน รวมถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ โดยแนวคิดในการพัฒนาเมืองสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ก็ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้และส่งเสริมภายใต้กรอบอำนาจที่ผังเมืองรวมสามารถสนับสนุนได้ ด้วยการจัดทำแผนผัง ข้อกำหนด และมาตรการทางผังเมืองที่เหมาะสม ยกตัวอย่าง การสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็น Smart City นั้น ในเขตเมืองชั้นใน ย่านปทุมวัน สีลม สาทร สุขุมวิท มักกะสัน และพหลโยธิน หรือฝั่งธนบุรี ย่านสะพานตากสิน คลองสาน ผังเมืองรวมได้สนับสนุนและส่งเสริมเป็นศูนย์พาณิชยกรรมหลัก ศูนย์คมนาคม และย่านนวัตกรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้หลักการเมืองกระชับ (Compact City) ในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรและงบประมาณอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมือง

ส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบนอกให้เป็น Smart City นั้น ผังเมืองรวมได้กำหนดการขยายตัวของกรุงเทพฯ ตามหลัก Smart City ด้วยมิติของความสะดวกจากการเดินทางและความพร้อมของระบบขนส่งทางราง สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยจากภัยพิบัติ จึงได้กำหนดศูนย์ชุมชนชานเมืองดังกล่าวแล้วโดยส่งเสริมให้เกิดความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่พักอาศัย ลดความแออัดและลดการเดินทางเข้าสู่เมืองชั้นใน

ในส่วนของพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครซึ่งได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวลาย) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาพื้นที่ไว้เพื่อช่วยเรื่องการระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยเป็นการสงวนรักษาไว้ตามนโยบายการระบายน้ำของประเทศ เร่งปรับปรุงระบบการระบายน้ำในพื้นที่ให้สมบูรณ์ และด้วยสภาพพื้นที่ซึ่งยังมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ การสงวนรักษาพื้นที่ดังกล่าวจึงยังคงมีความจำเป็น เพื่อลดความเสียหายและความเดือดร้อนของประชาชนหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ และเป็นแนวการระบายน้ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสนามบินสุวรรณภูมิอย่างใด เนื่องจากปริมาณน้ำหลากจะสิ้นสุดที่คลองประเวศบุรีรมย์ และระบายออกในพื้นที่ที่กำหนดไว้ลงสู่อ่าวไทยต่อไป การปรับลดพื้นที่เขียวลายดังกล่าว จึงมิได้ขัดขวางการพัฒนาเมืองแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการช่วยลดความแออัด เนื่องจากพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนนั้นสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินตามความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จะเร่งประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในรายละเอียดการปรับเปลี่ยนสาระสำคัญต่างๆ ในผังเมืองรวมฉบับใหม่ ให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจก่อนที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่จะประกาศใช้ช่วงปลายปี 2563 ต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงล่าสุดของผังเมืองกรุงเทพฯ

  1. เน้นพื้นที่ตามถนนสายหลักมากขึ้น จากเดิมที่ผังเมืองกรุงเทพฯ จะเน้นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า แต่การทบทวนครั้งใหม่จะเน้นการการพัฒนาพื้นที่ตามแนวถนนสายหลักให้มากขึ้น รวมทั้งพื้นที่รอบโครงการถนนสายใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็จะได้รับการพัฒนาตามผังเมืองใหม่ไปพร้อมกันด้วย
  2. พัฒนาพื้นที่ย่านหลักสี่และสะพานใหม่ ย่านหลักสี่และสะพานใหม่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนเมืองแห่งใหม่ เนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชมพู และแดงพาดผ่านถึง 3 สาย มีถนนวิภาวดีรังสิตและพหลโยธิน ซึ่งเป็นถนนสายหลักพาดผ่าน และยังเป็นย่านที่อยู่ติดกับสนามบินดอนเมืองอีกด้วย
  3. พัฒนาพื้นที่ย่านรามอินทราและมีนบุรี พื้นที่ตลอดแนวถนนรามอินทราและย่านมีนบุรีจะถูกปรับโซนใหม่ตามกฎหมายผังเมือง โดยพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีส้มในรัศมี 1 กิโลเมตร จะถูกปรับเป็นโซนสีแดงและสีส้ม เพื่อเปิดทางให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ความหนาแน่นสูง
  4. ผสมผสานที่อยู่อาศัย ย่านการค้า และแหล่งงาน การทบทวนผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่จะปรับพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าเพื่อไม่ให้มีแต่การพัฒนาคอนโดและที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่จะกำหนดให้มีพื้นที่เพื่อการพัฒนาในเชิงพาณิชย์และแหล่งงานใหม่ ๆ ผู้อยู่อาศัยจะได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานแต่ในย่านใจกลางเมืองเพียงอย่างเดียว
  5. ปักหมุดแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพฯ การพัฒนาพื้นที่ใหม่จะทำให้แลนด์มาร์คเดิม เช่น วัดพระศรีมหาธาตุ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการพระปกเกล้า สกายปาร์ค แลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพฯ บนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะอยู่ในผังเมืองใหม่อีกด้วย

ขยายซอย ตัดถนนใหม่ (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2562)

ในผังเมืองใหม่จะเพิ่มโครงข่ายถนนจาก 136 สาย เป็น 203 สาย ทั้งก่อสร้างใหม่และปรับปรุงถนนซอยเดิมที่คับแคบให้เป็นถนนตามขนาด 12 เมตร 16 เมตร 20 เมตร 30 เมตร40 เมตร 50 เมตร และ 60 เมตร เพื่อเป็นถนนสายรองเชื่อมกับถนนสายหลัก เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดรูปแบบถนนไว้ 7 ขนาด ประกอบด้วย

  1. ถนนแบบ ก ขนาดเขตทาง 12 เมตร 78 สาย เช่น ขยายซอยพหลโยธิน 52 , ซอยวัชรพล 4, ซอยเสนาวัฒนา 12, ซอยคู้บอน 27 แยก 40, ซอยวิภาวดีรังสิต 60, ซอยพหลโยธิน 49/2, ซอยโยธินพัฒนา 3 แยก 2, ซอยโยธินพัฒนา 7 แยก 2, ซอยลาดพร้าว 101, ซอยลาดพร้าว 37, ซอยลาดพร้าว 41, ซอยลาดพร้าววังหิน 27, ซอยเสรีไทย 50,ซอยรามคำแหง 43/1, ซอยลาดพร้าว112, ซอยปรีดีพนมยงค์ 31, ซอยสุขุมวิท 101, ขยายถนนสวนผัก ถนนทุ่งมังกร ถนนชัยพฤกษ์ ถนนฉิมพลี ถนนเพชรเกษม ที่สร้างใหม่ เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนเลียบใต้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก
  2. ถนนแบบ ข ขนาดเขตทาง 16 เมตร จำนวน 83 สาย เช่น ขยายถนนเลียบคลองสอง, ซอยพหลโยธิน 54/1, ถนนจามจุรี, ซอยรามอินทรา 65 แยก 4 และซอยคู้บอน 27, ซอยรามอินทรา 14 (ซอยมัยลาภ),สร้างถนนใหม่ช่วงประเสริฐมนูกิจ ตัดกับสุคนธสวัสดิ์ บรรจบซอยมัยลาภ, ขยายซอยรามคำแหง 184 ซอยโชคชัยปัญจทรัพย์ ซอยเคหะร่มเกล้า 4 ถนนเคหะร่มเกล้า, ถนนราษฎร์พัฒนา, ซอยอารีย์สัมพันธ์ ซอยราชครู, สร้างใหม่จากถนนวัฒนธรรมบรรจบถนนเทียนร่วมมิตร, สร้างใหม่ถนนร่มเกล้าบรรจบถนนเจ้าคุณทหาร, ขยายถนนบางแวกบรรจบพุทธมณฑลสาย 1, ซอยสุขุมวิท 26, ถนนเจริญรัถ, ถนนพระรามที่ 2 ซอย 39 ซอยอนามัย งามเจริญ 25 แยก 1 ซอยอนามัยงามเจริญ 25 แยก 2-3 ซอยรวงโพธิ์ล่าง สร้างใหม่ถนนเอกชัยบรรจบกาญจนาภิเษก, สร้างถนนท่าข้ามบรรจบถนนพระรามที่ 2
  3. ถนนแบบ ค ขนาดเขตทาง 20 เมตร 12 สาย เป็นถนนสร้างใหม่ เช่น ถนนคลองเปรมประชากรตัดกับแนวเขตผังเมืองรวมด้านเหนือ และแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวบรรจบถนนลำลูกกา, ต่อเชื่อมรามอินทราบริเวณถนนลาดปลาเค้า บรรจบถนนเทพารักษ์ ฯลฯ
  4. ถนนแบบ ง เขตทาง 30 เมตร 18 สาย อาทิ ขยายถนนไมตรีจิต, ถนนคู้คลองสิบ,ถนนร่มเกล้า, ถนนเทิดดำริ, ถนนกระรามที่ 6 ริมคลองประปาฝั่งซ้าย, สร้างใหม่จากถนนสุวินทวงศ์บรรจบถนนราษฎร์อุทิศ, ต่อเชื่อมถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรีช่วงตัดกับประชาราษฎร์สาย 2 บรรจบถนนอำนวยสงคราม, เชื่อมถนนนิคมมักกะสันกับถนนจตุรทิศ
  5. ถนนแบบ จ เขตทาง 40 เมตร 6 สาย อาทิ ขยายถนนคลองเก้า, ขยายถนนทหาร ถนนประดิพัทธิ์, สร้างใหม่ถนนเชื่อมรัตนโกสินทร์สมโภชกับนิมิตรใหม่, เชื่อมถนนฉลองกรุงกับจุดตัดมอเตอร์เวย์

ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงรายละเอียดที่อยู่ในระหว่างการทบทวน ก่อนจะประกาศใช้ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ในปี 2563 นี้

ที่มา

  1. prbangkok.com/th/office-news/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ3MjM0MQ
  2. prachachat.net/property/news-330039
  3. ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/อัปเดตผังเมืองกรุงเทพฯ-ปี-2563-ทำเลโดดเด่น-21791

Loading